วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2506 เวลา 15.30 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณสระน้ำ ด้านหน้าหอประชุม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการนี้ นายธวัชชัย ไชยชนะ นายกสมาคม นิสิตเก่า ฯ และ หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์) อธิการบดี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน
ในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และคณาจารย์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นนนทรีเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งมีอาจารย์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย ได้แก่ อาจารย์ระพี สาคริก (นักดนตรีและโฆษก) ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล (โฆษก) และนายอวบ เหมะรัชตะ เป็นต้น
นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นนนทรี และทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ เป็นครั้งแรก และทรงเป็นกันเองอย่างที่สุด ซึ่งนับป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสด็จฯ “เยี่ยมต้นนนทรี” ที่ทรงปลูก” และ “ทรงดนตรี” สืบเนื่องมาจนถึงปีพุทธศักราช 2515 รวมจำนวน 9 ครั้ง อันนำมาซึ่งความสุข ความปลื้มปิติของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในวาระสำคัญ ซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบ 61 ปี แห่งพระมหากรุณาธิคุณ นนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอเชิญชวนนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และ บุคลากร ร่วมงาน “วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี ” โดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2567 เวลา 17.00 นาฬิกา ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงพลังแห่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
กิจกรรมน้อมรำลึกประกอบด้วย การบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ทรงโปรด โดยวงดนตรีสากล KU BAND และวงดุริยางค์เครื่องลม KASETSART WINDS การฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การอ่านบทกลอนรำลึกพระมหากรุณาธิคุณประกอบดนตรีไทย การรายงานสุขภาพต้นนนทรี การกล่าวรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ การจุดเทียน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ และการขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ เพลงสดุดีพระเกียรติ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี พร้อมด้วย คณาจารย์บุคลากร ผู้นำนิสิต นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และชมรม มก.อาวุโส
นนทรีทรงปลูก
ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทำไมถึงเป็นต้นนนทรี (Peltophorum pterocarpum ) จากการประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2506 คณะอนุกรรมการพิจารณาหาต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัญเชิญ ชมพูโพธิ์ หัวหน้าภาควิชาพืชศาสตร์ อาจารย์ปวิณ ปุณศรี อาจารย์แสงธรรม คมกฤส และอาจารย์เจือ สุทธิวนิช ได้เสนอต้นไม้ 4 ชนิด ต่อที่ประชุม คือ นนทรี ทองกวาว ราชพฤกษ์ (คูน) และพิกุล ที่ประชุมได้ตกลงเลือกต้นนนทรี เพราะเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืน มีใบสีเขียวแก่ อันหมายถึง สีเขียวขจีของเกษตร และมีดอกสีเหลืองทอง อันหมายถึง สีเหลืองของคณะเกษตร
“ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย ”
คำกราบบังคมทูลของคุณหลวงอิงคศรีกสิการในฐานะอธิการบดี
ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น
วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567