ปี 2567
ร่วมเฉลิมฉลอง
การพัฒนากำลังคนทางด้านการเกษตรของประเทศไทย
การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มจากการจัดการศึกษาวิชาเกษตรของประเทศ จากในระบบโรงเรียนวิชาชีพในสมัยเริ่มแรก อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะดังนี้
เป็นระยะก่อตั้งระบบการศึกษาวิชาเกษตร ให้เป็นระบบโรงเรียนของไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2447 เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก
กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 ) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกเป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุมพร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452 ในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการงานศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ
เป็นการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถม - กสิกรรม เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดี กระทรวงธรรมการ ได้จัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง ณ บ้านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โรงเรียนนี้รับผู้จบชั้น ม.3 (เปลี่ยนเป็น ม.6 ในระยะต่อมา) เข้าศึกษา ในหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ปป.ก.) และในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่ตำบล พระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
เป็นการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ทุกภาค
โดยได้ย้ายโรงเรียนจากตำบลพระประโทน จังหวัด นครปฐม ไปตั้งที่ตำบล บางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2467 และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นใหม่ อีกแห่งหนึ่ง ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2469 ต่อมาการจัดการศึกษาวิชาเกษตรในระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบของโรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม และโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมหลายแห่ง ใน ปลายปี พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในกระทรวงเกษตราธิการ ทรงดำริว่าควรจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรม ขึ้นที่ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคพายัพ พร้อมกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เพื่อให้งานวิจัยการเกษตรดำเนินควบคู่ไปกับการให้ การศึกษา ในสาขา เกษตรศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมกับสถานีทดลองกสิกรรมตามภาคต่าง ๆ มีผลให้กระทรวง เกษตราธิการ จัดการศึกษาวิชา เกษตรศาสตร์ใหม่ ในปี พ.ศ. 2476 จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2477 จัดตั้งโรงเรียน ฝึกหัดครูประถมกสิกรรมคอหงษ์ ตำบลคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แนวคิดในการดำเนินงานสถานีทดลอง กสิกรรมควบคู่กับโรงเรียน ฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง 3 แห่ง นับได้ว่าเป็นต้นแบบอย่างอันดียิ่งของการประสาน ระหว่างงานวิจัยทดลอง และงานศึกษา หัวหน้าสถานีและ อาจารย์ใหญ่ชุดแรก ได้แก่ หลวงอิงคศรีกสิการ (ที่โนนวัด) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ที่คอหงส์) และพระช่วงเกษตรศิลปการ (ที่แม่โจ้)
ในปี พ.ศ. 2478 นโยบายการศึกษาสาขาเกษตรศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือรัฐบาลในขณะนั้นเกรงว่าจะมีการผลิตครูเกษตรเกิน ความต้องการของประเทศ จึงมีดำริที่จะยุบโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง 3 แห่ง หลวงอิงคศรีกสิการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และพระช่วงเกษตร ศิลปการ จึงได้ร่วมกันเสนอโครงการให้คงโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่แม่โจ้ พร้อมกับจัดตั้ง โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทนซึ่งต่อมา ได้ยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัย ชื่อ "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในกรมเกษตรและประมง ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก ของวิทยาลัยได้แก่พระช่วงเกษตรศิลปการ ในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดแพร่ คือ โรงเรียนป่าไม้ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตร 2 ปี และ ได้โอนกิจการไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์ ใน ปี พ.ศ. 2481 กระทรวงเกษตราธิการ ได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งวิทยาเขตหลักของ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน และได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากแม่โจ้มาบางเขน มีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย เปิดสอนหลักสูตร 3 ปี ใน ระดับ อนุปริญญา โดยมี 3 แผนก คือแผนกเกษตรศาสตร์กับแผนกสหกรณ์ ซึ่งเปิดสอนที่บางเขน (สำหรับนักศึกษาแผนก สหกรณ์ ชั้นปีที่ 3 ต้องไปเรียนที่ กรมสหกรณ์ ท่าเตียน เพื่อสะดวกในการอบรมวิชาภาคปฏิบัติ) และแผนกวนศาสตร์ซึ่งเปิดสอนที่โรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ (ต่อมาโรงเรียนวนศาสตร์ได้แยก ดำเนินกิจการในลักษณะเดิมอีกตั้งแต่ พ.ศ. 2499)
หอจดหมายเหตุ มก. มีหน้าที่รวบรวมเอกสารสำคัญของมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อมูลดิจิทัล ภาพสิ่งของ (ที่เกี่ยวข้อง) แนะนำและเผยแพร่เกียรติคุณของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของมหาวิทยาลัย เชิดชูบูรพาจารย์ และเผยแพร่ภารกิจต่าง ๆ อันเป็นความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ได้รวบรวมประวัติบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และบูรพาจารย์ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จัดตั้งหอประวัติ มก. เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา 60 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คณาจารย์ บุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งมวล และประชาชนผู้สนใจได้ทราบถึงประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่เริ่มสถาปนาจนถึงปัจจุบัน
เข้าสู่เว็บไซต์2 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับเข้าสู่ทศวรรษที่ 9 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างเป็นทางการ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอประกาศความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเซียและของโลกด้วยการเรียนรู้ด้านสุขภาพ
...
อีก 20 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบ 1 ศตวรรษ นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งโลกที่มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
...
ด้วยจำนวนนิสิตมากกว่า 70,000 คน ด้วยงานวิจัยมากกว่า 4,000 เรื่องต่อปี ด้วยนวัตกรรมหลายร้อยชิ้น ด้วยความร่วมมือของนิสิตเก่าเกือบ 400,000 คน ด้วยพลังของคนไทย ด้วยความภาคภูมิใจ และความร่วมมือในระดับนานาชาติ
...
ประกาศก้องว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เป็นความรุ่งเรืองและความยั่งยืนของชาติ อย่างแท้จริง
...
เพราะที่นี่ ... คือชีวิตของพวกเรา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์