การเวกชนิดใหม่ของโลก (Artabotrys longipetalus J.Chen & Eiadthong, sp. nov. และ Artabotrys insurae J.Chen & Eiadthong, sp. nov.) และที่พบครั้งแรกในประเทศไทย (Artabotrys pleurocarpus Maingay ex Hook.f. & Thomson และ Artabotrys crassifolius Hook.f. & Thomson)
ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และนายทวี อินสุระ นิสิตปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ ได้ค้นพบพรรณไม้ การเวก (Artabotrys) ชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด นอกจากนี้ยังได้รายงานการค้นพบพรรณไม้สกุล การเวก (Artabotrys) อีก 2 ชนิด ที่เป็นรายงานการพบครั้งแรกในประเทศไทยไว้ โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PhytoKeys 151 หน้า 78 – 81 เดือนมิถุนายน 2020 เรื่อง New species and new records of Artabotrys (Annonaceae) from peninsular Thailand (https://phytokeys.pensoft.net/article/51643/) ผลการตีพิมพ์บรรยายว่าพรรณไม้ในสกุล การเวก (Artabotrys) เป็นสกุลหนึ่งของสมาชิกในวงศ์ Annonaceae ทั่วโลกพบมากกว่า 100 ชนิด สมาชิกส่วนใหญ่ของสกุลนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้เลื้อย ใบเดี่ยว ใบไม่มีขน ดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมี 6 กลีบ ผลสด เป็นพรรณไม้ประจำเขตร้อนโลกเก่า ส่วนใหญ่พบในทวีปเอเชีย แต่ก็มีรายงานพบในทวีปแอฟริกาด้วยประมาณ 30 ชนิด และในออสเตรเลีย 1 ชนิด ผลการศึกษาทางพันธุกรรมของพรรณไม้สกุลนี้ในประเทศไทยพบว่ามีความสัมพันธ์กับที่พบในทวีปแอฟริกา การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบไม้การเวกชนิดใหม่ ของโลก 2 ชนิด ได้แก่ Artabotrys longipetalus sp. nov และ Artabotrys insurae sp. nov ส่วนชนิดที่เป็นรายงานการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่ Artabotrys pleurocarpus Maingay ex Hook.f. & Thomson และ (2) Artabotrys crassifolius Hook.f. & Thomson
การเวกชนิดใหม่ของโลก ชนิดแรก (Artabotrys longipetalus sp. nov) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ตามลักษณะเด่นของกลีบดอก โดยพบที่อำเภอบ้านนาสาร และอำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ตามลำดับ สภาพพื้นที่ที่พบเป็นป่าดงดิบชื้น อยู่ในช่วงระดับความสูงระหว่าง 100 – 730 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ลักษณะทัวไปของการเวกชนิด Artabotrys longipetalus sp. Nov ดังภาพที่ 1
การเวกชนิดใหม่ของโลกชนิดที่สอง (Artabotrys insurae sp. nov.) ลักษณะเด่นที่พบได้แก่ ฐานใบเบี้ยว กลีบดอกมีขนสั้นๆ ตั้งชื่อเป็นเกียรติ์ แก่นายทวี อินสุระ ที่เป็นผู้ค้นพบในระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภายใต้การให้คำปรึกษาของ ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ดังลักษณะทั่วไปตามภาพที่ 2
การเวกชนิดที่เป็นการพบในแหล่งใหม่ (new record) ของประเทศไทย ได้แก่ (1) Artabotrys pleurocarpus Maingay ex Hook.f. & Thomson พบที่จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล โดย นายทวี อินสุระ และ (2) Artabotrys crassifolius Hook.f. & Thomson พบที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังโดย ผศ. ดร. วิชาญ เอียดทอง ภาพลักษณะของการเวกชนิดที่พบในแหล่งใหม่ในประเทศไทย (Artabotrys pleurocarpus) ดังภาพที่ 3 ทั้ง 2 ชนิดเคยมีรายงานการพบ ที่ประเทศมาเลเซีย
การค้นพบสกุลการเวกชนิดใหม่ของโลก และที่พบในแหล่งใหม่ของประเทศไทยนอกเหนือจากเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายของพรรณไม้ในประเทศแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอาจารย์คณะวนศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศ ผลการค้นพบช่วยปรับปรุงความก้าวหน้าในวงการอนุกรมวิธานพืช ความก้าวหน้าในการสร้างนิสิตของสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และต่อวงการการอนุรักษ์พรรณพืชของประเทศไทย
ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19
นักวิทยาศาสตร์ของโลก ที่มีผลงานตีพิมพ์และได้รับการอ้างอิงสูงสุด